แม่รู้ดี แชทบอท ตัวช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อความ-ข่าวสาร ผนึกพันธมิตรใหม่ เสริมความแกร่งฐานข้อมูล

แม่รู้ดี แชทบอท ตัวช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อความ-ข่าวสาร ผนึกพันธมิตรใหม่ เสริมความแกร่งฐานข้อมูล

แม่รู้ดี แชทบอทตรวจสอบข้อเท็จจริงอัจฉริยะที่เชื่อมโยงเข้ากับแอปพลิเคชั่น LINE ที่มีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคนในประเทศไทย ให้เข้าถึงฐานข้อมูลที่กว้างที่สุดเพื่อตรวจสอบข้อมูล-ข่าวสาร ร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นนำของไทย 5 แห่งเพื่อต่อสู้กับข้อความเท็จและและข้อความที่เป็นอันตรายที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยแม่รู้ดีสามารถใช้ตรวจสอบข้อความที่น่าสงสัยแบบเรียลไทม์และช่วยปกป้องคนไทยจากข่าวปลอมและข้อความหลอกลวงออนไลน์ ฐานข้อมูลพันธมิตรของแม่รู้ดีครอบคลุมหัวข้อและข่าวสารที่หลากหลาย รวมถึงด้านสุขภาพ การเมือง โควิด และเศรษฐกิจ เป็นต้น

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและระบุ
ข้อความที่น่าสงสัย แม่รู้ดีได้ร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นนำ 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย, ไทยดีไอแมชีน (Thai D.I. Machine), อย. เช็ก ชัวร์ แชร์, COFACT ประเทศไทย และ สปริงนิวส์ เพื่อตรวจสอบข้อความแบบเรียลไทม์เมื่อมีการแชร์บนแชท LINE แม่รู้ดีจะช่วยตรวจสอบแหล่งข้อมูลที่แท้จริงและได้รับการยืนยันกับผู้ใช้งาน ทั้งข้อมูลด้านสุขภาพ ข่าวที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 การเงิน การเมือง และข่าวทั่วไป จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมช่วงระหว่าง 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2564 มีจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอมมากกว่า 20 ล้านคนในประเทศไทย

 

ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Gogolook ประเทศไทย กล่าวว่า “ข้อความน่าสงสัยและข่าวหลอกลวงแพร่กระจายทางออนไลน์ได้ง่ายและมีความซับซ้อนที่จะตรวจสอบมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบุได้ยากว่าข้อความไหนคือความจริงหรือหลอกลวง แม่รู้ดีเป็นแชทบอทอัจฉริยะ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถระบุข้อความที่ไม่ปลอดภัยแบบเรียลไทม์ และเมื่อผนวกความร่วมมือกับองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงชั้นนำของไทยที่มีความน่าเชื่อถือ เราจะสามารถขยายขีดความสามารถของแม่รู้ดีและยังช่วยเพิ่มการสนับสนุนด้านข้อมูลให้กับผู้ใช้งานในประเทศไทยได้อีกด้วย”

แม่รู้ดีสามารถใช้ได้ทั้งการแชทแบบเดี่ยวหรือแชทแบบกลุ่มบน LINE ใช้งานง่ายเพียงเพิ่มเพื่อนด้วยไอดี @maeroodee ฟีเจอร์ตรวจสอบข้อความแบบกลุ่มสามารถทำได้โดยเชิญ แม่รู้ดีเข้าสู่กลุ่มแชทของคุณ แม่รู้ดีจะทำงานทันทีโดยเปรียบเทียบข้อความที่น่าสงสัยโดยอัตโนมัติกับข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วในฐานข้อมูลที่จัดทำโดยพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญดังนี้

COFACT Thailand แพลตฟอร์มและชุมชนในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เพื่อแสวงหาความจริงร่วม บนฐานการใช้เทคโนโลยีภาคพลเมือง และ หลักวารสารศาสตร์ ในการสืบค้น คัดครองข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความฉลาดของพลเมืองยุคดิจิทัล แพลตฟอร์มดังกล่าวร่วมมือกับ สสส. มูลนิธิฟรีดริชเนามัน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไทยพีบีเอส สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันชั้นนำอีกมากมาย

Anti-Fake News Center (AFNC) หรือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (CCIB) สำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรอื่นๆ อีกกว่า 200 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาข่าวปลอมที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์

ไทยดีไอแมชีน (Thai D.I. Machine) เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนแชร์ข่าว ช่วยชะลอการแพร่กระจาย พัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย. เช็ก ชัวร์ แชร์ เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพของคนไทย โดยเน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และ วัตถุเสพติด เป็นต้น

สปริงนิวส์ จากสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์งานข่าวและสังคมมายาวนานกว่า 10 ปี เล็งเห็นว่าปัญหาข่าวปลอมเป็นปัญหาสําคัญ และส่งผลกระทบใหญ่หลวงได้ในปัจจุบัน SPRiNG NEWS ในฐานะสื่อมวลชน จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคม ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เคลือบแคลง ไม่ชัดเจน หรือเป็นเท็จ ให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จึงได้จัดทําโครงการ “Fact Check” เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมถึงการตรวจสอบก่อนตัดสินใจเชื่อ รวมทั้งเสนอตัวเป็น Fact Checker เผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่น่าสงสัย ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์

นอกจากการตรวจสอบข้อความและข่าวที่น่าสงสัยแล้ว แม่รู้ดียังสามารถใช้เพื่อระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยโดยตรวจสอบกับ Whoscall ที่มีหมายเลขโทรศัพท์อยู่ในฐานข้อมูลทั่วโลกมากกว่า 1.6 พันล้านเลขหมาย「Have I been pwned?」เว็บไซต์ที่ตรวจสอบว่าบัญชีและรหัสผ่าน เคยถูกแฮกหรือคุกคามจากเว็บไซต์ต่างๆ หรือไม่ และยังสามารถตรวจสอบความปลอดภัยของลิงค์ที่น่าสงสัย ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถตรวจสอบผ่าน แชทบอทไลน์ แม่รู้ดี

แม่รู้ดีเป็นบริการฟรีที่พัฒนาโดย Gogolook เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันการฉ้อโกงชั้นนำระดับโลก ซึ่งรวมถึง Whoscall แอปพลิเคชั่นระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม

มาร่วมต่อต้านข้อมูลเท็จกันตั้งแต่วันนี้ โดยให้แม่รู้ดีช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง เพียงแค่เสิร์ชไอดี @maeroodee บน LINE แล้วเพิ่มเพื่อนในแชทและเชิญเข้ากลุ่ม LINE ของคุณ