แก้ รธน.สมประโยชน์การเมือง – รื้อโครงสร้างต้องลุ้น

ส่องประเด็นที่แต่ละพรรคเสนอแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ หลังจากความพยายามแก้ไขทั้งฉบับถูกคว่ำไปเมื่อเดือนมีนาคม จากผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าการเสนอแก้ไขรอบใหม่เป็นการเสนอแบบ “รายมาตรา” เพื่อไม่ให้มีปัญหากับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซ้ำอีก และเลี่ยงการทำประชามติ เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ใช้เวลานาน ขณะที่กฎหมายประชามติฉบับใหม่ก็ยังค้างอยู่ในสภา จะมีการประชุมพิจารณาต่อในมาตราที่เหลือในสัปดาห์นี้เช่นกัน

สำหรับประเด็นหลักๆ ที่มีการเสนอ และส่งผลต่ออนาคตการเมืองไทย กลั่นออกมาได้ 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. แก้ระบบการเลือกตั้ง จากบัตรลงคะแนนใบเดียว เป็น 2 ใบ

ประเด็นนี้ทุกพรรคการเมืองเสนอกันหมด เพื่อให้มีการเลือกแยกระหว่าง ส.ส.เขต กับ บัญชีรายชื่อ ต่างกันเพียงวิธีการคำนวนเท่านั้น เพื่อให้เข้าทางพรรคตัวเองมากที่สุด

2. ปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272

ประเด็นนี้ ทุกพรรคการเมืองเสนอกันหมดเช่นกัน ยกเว้นพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่าถ้าไปแตะอำนาจ ส.ว. แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะมีทางผ่านได้หรือ ขณะเดียวกัน พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้ร่วมลงชื่อกับ 3 พรรครัฐบาลในร่างแก้ไขประเด็นนี้ ด้วยเหตุผลเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ และความกังวลว่าอาจจะมีการตีความให้ทำประชามติ

3. ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

ประเด็นนี้บ้างก็ว่าต้องแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บ้างก็ว่าต้องไปทำประชามติก่อน แต่พรรคการเมืองที่เสนอมี 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย มีเงื่อนไขไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอคล้ายๆ กัน แต่ย้ำว่า ส.ส.ร.ต้องมีอำนาจแก้ไขได้ทุกหมวด ทุกมาตรา

4. แก้หลักเกณฑ์การแก้รัฐธรรมนูญ

ประเด็นนี้คือการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ในวาระ 1 กับวาระ 3 พรรคการเมืองที่เสนอแก้คือพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การสนับสนุนของพรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นอีเวนท์ใหญ่ และหลายคนเชื่อว่าเป็นการแก้ไขเพื่อปรับกติกานำไปสู่การเลือกตั้ง จึงมีหลายเสียงแสดงความเห็นไปในทิศทางที่ว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกับ “เนชั่นทีวี” ว่า ปัญหาพื้นฐานของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือพรรคแกนนำไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย และกลุ่มคนที่สกัดกั้นไม่ให้แก้ คือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง

นายอภิสิทธิ์ มองว่า หลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องนักการเมืองกันเอง โดยเฉพาะเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งทั่วโลกมีใช้หลายแบบ อยู่ที่ว่าจะเลือกใช้แบบไหน แต่หัวใจที่แท้จริงคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

ความเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง อาจารย์ยุทธพร อิสรชัย ที่บอกว่า โอกาสเห็นร่างของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ได้รับความเห็นชอบ มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากมีเสียงของพรรคพลังประชารัฐ และวุฒิสภาสนับสนุน และเสียงของ 2 กลุ่มนี้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

อาจารย์ยุทธพร มองว่า รูปแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยในอดีตเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว คาดว่าคีย์แมนของพรรคพลังประชารัฐอยากทำให้พรรคเป็นเหมือนเพื่อไทย หรือไทยรักไทยในอดีต คือเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของแต่ละพรรค เป็นการแก้ทางเทคนิค โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร

ส่วนประเด็นเชิงโครงสร้างและอุดมการณ์ ทั้งเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นนายกฯคนใน หมายถึงต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น และประเด็นอำนาจ ส.ว. เพื่อตัดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต้องมาลุ้นว่าจะผ่านได้บ้างหรือไม่

เรื่องโดย Nation TV | ภาพโดย Nation TV