วันเสาร์ ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566, 17.30 น.
หวั่นกระทบธุรกิจเป็นวงกว้าง! สื่อมะกันจับตาไทย นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดทำไม่ง่าย
30 ก.ย. 2566 สำนักข่าว CNN สหรัฐอเมริกา เสนอรายงานพิเศษ A weed hangover? Why Thailand’s having second thoughts about decriminalizing cannabis ระบุว่า ประเทศไทยกำลังมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะนำ “กัญชา” กลับไปสู่การเป็น “ยาเสพติด” หรือไม่ ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ทางการไทยประกาศถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ก็มีกิจการที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากราวกับดอกเห็ด
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ไทยเผชิญกับ “ความเร่งรีบสีเขียว (Green Rush)” โดยมีร้านขายยากัญชาเพิ่มขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการเข้าถึงกัญชาเป็นเรื่องง่ายมานานแล้วแต่ก็มีความเสี่ยง อาทิ ภาคเหนือสุดของประเทศไทยตั้งอยู่บน “สามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle)” อันโด่งดัง หนึ่งในภูมิภาคที่การผลิตยาเสพติดประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมากัญชาถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกยาวนานสำหรับผู้ที่ถูกจับได้
สิ่งนั้นเปลี่ยนไปหลังจากที่กัญชาถูกลดทอนความเป็นอาชญากรรมโดยสิ้นเชิง ผู้มาเยือนกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ที่ถนนข้าวสารอันเลื่องชื่อ หรือที่ย่านร้านเหล้าอย่างทองหล่อ มักจะได้สัมผัสกับกลิ่นของกัญชาพอๆ กับกลิ่นเผ็ดร้อนของอาหารริมทาง เมืองทางภาคเหนืออย่าง จ.เชียงใหม่ ก็ยังจัดเทศกาลกัญชา แต่ทั้งหมดนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้า เมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการผสมของพรรคการเมืองขั้วอนุรักษ์นิยม ก็เป็นไปได้ที่ มีสัญญาณบ่งชี้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับกัญชาอาจถูกเขียนใหม่อีกครั้ง
เศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลจะพยายามแก้ไขกฎหมายว่าด้วยกัญชาภายใน 6 เดือนข้างหน้า โดยเสนอว่ากัญชาจะยังคงถูกกฎหมายสำหรับใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น โดยอ้างถึงปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จึงไม่ต้องการให้มีประเด็นอื่นเข้ามาอีก
Nitikrist Attakrist และ Wassaya Iemvijan สองสามี-ภรรยา ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยประกอบอาชีพทนายความ และไม่คิดมาก่อนว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกัญชา แต่เมื่อกัญชาถูกปลดพ้นจากสิ่งผิดกฎหมายจึงได้เปิดร้านขายผลิตภัณฑ์กัญชาขึ้น โดย Iemvijan กล่าวว่า เธอต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามานานหลายปี และกัญชาก็เป็นพืชที่ช่วยเรื่องนี้ได้ ขณะที่ Attakrist กล่าวว่า การเป็นทนายความทำให้เกิดความเครียดอย่างมาก พวกตนไม่ได้วางแผนที่จะจัดตั้งร้านขายกัญชา แต่เก็ตัดสินใจทำ และต้องการสอนผู้คนถึงวิธีการได้รับผลประโยชน์ที่ดีที่สุด รวมถึงความรับผิดชอบที่มาพร้อมกัน
ยังไม่มีความชัดเจนว่า Iemvijan และ Attakrist จะไปอยู่ที่ใด รวมถึงธุรกิจธีมกัญชา ร้านคาเฟ่กัญชา และร้านขายยาอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนที่เปิดให้บริการในปีที่ผ่านมา แต่สิ่งต่างๆ ดูไม่ดีเลย ซึ่ง Attakrist กล่าวว่า กัญชาได้ช่วยเหลือคนไทยจำนวนมาก ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและคนงานที่อยู่หลังเคาน์เตอร์ ซึ่งนโยบายการกลับหลังหันใดๆ ก็ตามจะเป็นการตัดสินใจที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตนขอต่อต้านกฎหมายใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างรุนแรง
กัญชาทางการแพทย์ถูกกฎหมายในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2561 แต่การลดทอนความเป็นอาชญากรรมในปี 2565 ได้ก้าวไปอีกขั้น ทำให้การปลูกและค้ากัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชา หรือใช้ส่วนใดๆ ของกัญชาเพื่อการรักษาโรคไม่ถือเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป ภายใต้การเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 2565 ร้านกาแฟและร้านอาหารได้รับอนุญาตให้เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชาได้ แต่เฉพาะในกรณีที่ผลิตภัณฑ์มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่าร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นสารประกอบออกฤทธิ์ทางจิตหลักของกัญชา
อย่างไรก็ตาม การสูบกัญชาในที่สาธารณะยังคงผิดกฎหมาย และยังคงมีบทลงโทษที่รุนแรงภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงโทษจำคุกสูงสุด 3 เดือน หรือปรับสูงสุด 800 เหรียญสหรัฐ (2.5 หมื่นบาท) สำหรับผู้ที่ถูกจับได้ ซึ่งก่อนหน้าเดือน มิ.ย. 2565 ที่ประเทศไทยถอดกัญชาพ้นบัญชียาเสพติดให้โทษ อนุทิน ชาญวีรกูล (Anutin Charnvirakul) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย (ในขณะนั้น) เคยกล่าวว่า ไม่เคยมีสักครั้งที่ตนจะคิดถึงการสนับสนุนให้ผู้คนใช้กัญชาในแง่สันทนาการ หรือใช้ในลักษณะที่อาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
ในความเป็นจริง กัญชาส่วนใหญ่ที่จำหน่ายมีความเข้มข้นของสาร THC มากกว่าร้อยละ 0.2% ในประเทศที่การปฏิบัติตามกฎระเบียบและตัวบทกฎหมายอาจมีเป็นหย่อมๆ บรรดาผู้สังเกตการณ์ ระบุว่า การสูบกัญชาในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความคลุมเครือของกฎหมาย อาทิ Ley Singdam เจ้าของร้านขายกัญชาใน จ.ภูเก็ต เกาะที่เป้นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย กล่าวว่า ไม่มีการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างการใช้กัญชาทางการแพทย์กับการเสพยา ซึ่งส่งผลให้การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้น
แต่ Ley ก็มองว่า สถานการณ์ปัจจุบันก็เหมือน “ยักษ์ที่ถูกปลดปล่อยออกจากตะเกียงไปแล้ว (Genie is already out of the Bottle)” นั่นคือรัฐบาลคงจะคิดผิด หากเชื่อว่าาการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดแล้วจะทำให้ผู้คนไม่สามารถเสพยาได้ เช่นเดียวกับ Attakrist ที่เห็นว่า การปราบปรามการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการซึ่งรัฐบาลกล่าวว่ากำลังวางแผนอยู่ อาจไม่สามารถหยุดยั้งผู้คนจากการใช้กัญชาได้ แต่จะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กอย่างหนัก
Attakrist เชื่อว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลไทยเองต่างหากที่ต้องถูกตำหนิสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ร้านขายยากัญชาส่วนใหญ่มีความรับผิดชอบและขยันขันแข็งตั้งแต่เริ่มต้นในการตรวจสอบบัตรประชาชนของผู้ซื้อ และให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของกัญชา กัญชามีผลเสียน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ แต่เรายังคงให้ความสำคัญในการเตือนลูกค้าเกี่ยวกับกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการในประเทศไทยรัฐบาลควรเตรียมตัวให้ดีกว่านี้ตั้งแต่เริ่มต้น แต่พวกเขาสร้างสุญญากาศทางกฎหมาย และตอนนี้กำลังพยายามผลักภาระให้เจ้าของธุรกิจและชุมชนกัญชา
ขณะที่ Iemvijan กล่าวว่า สำหรับตอนนี้แม้จะมีความไม่แน่นอน แต่ธุรกิจก็ยังดีอยู่ การถกเถียงเกิดขึ้นท่ามกลางคุณภาพของกัญชาที่ผลิตในประเทศไทยกำลังดีขึ้น ซึ่งตอนนี้มันสะอาดและปลอดภัยกว่าเมื่อก่อนมาก สถานการณ์ในประเทศไทยมีความซับซ้อน… แต่ธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่เช่นเราไม่เห็นด้วยกับกฎใหม่หากอยู่ภายในกรอบที่สมเหตุสมผลและง่ายต่อการปฏิบัติตาม
เกษตรกรซึ่งหลายคนเปลี่ยนมาปลูกกัญชาแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่น ข้าว ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน โดย Kitty Chopaka ผู้ประกอบการด้านกัญชาในกรุงเทพฯ เล่าว่า ตนเคยพบพ่อแม่หลายคนที่สามารถส่งลูกๆ ของพวกเขาไปโรงเรียนที่ดีกว่าได้ อุตสาหกรรมนี้สนับสนุนและสร้างงานจำนวนมากให้กับคนไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนต้องมีสิทธิพูด ตนไม่คิดว่ากฎหมายอื่นใดในประวัติศาสตร์ไทยจะใหญ่ขนาดนี้ เรากำลังพูดถึงอุตสาหกรรมที่มีทั้งการแพทย์และสันทนาการ ซึ่งมีรากฐานมาจากประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และจะส่งผลอย่างมากต่ออนาคต
ไมเคิล ซายท์เซฟ (Michael Zaytsev) ที่ปรึกษาธุรกิจกัญชาและผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านกัญชาของวิทยาลัย LIM College เมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของกัญชาทางการแพทย์ในขณะที่การห้ามใช้สำหรับผู้ใหญ่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นทั่วไปสำหรับรัฐบาล แต่จะจำกัดการเติบโตที่อาจเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม คาเฟ่ ร้านค้า และธุรกิจกัญชาอื่นๆ หลายพันแห่งได้เติบโตขึ้น และนักท่องเที่ยวใช้เงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลาอันสั้น ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบสามารถก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญและมีอยู่ต่ออุตสาหกรรมกัญชา และการนำทางอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง และให้ผลตอบแทนสูงไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายคือการหาสมดุลระหว่างกฎระเบียบและการสนับสนุน
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า ไทยถือเป็นประเทศที่แตกต่างจากชาติอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งวนใหญ่มีกฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวด บางประเทศเช่นสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ไม่ว่าผู้ค้า ครอบครอง หรือเสพ อาจได้รับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ขณะที่ กลอเรีย ไล (Gloria Lai) ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายยาระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า การลงโทษที่รุนแรงก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกันจนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ และตนเชื่อว่าการจำกัดกัญชาเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์จะสร้างผลร้ายมากกว่าผลดี
ไล มองว่า การห้ามไม่ได้กำจัดสิ่งเหล่านั้นและอาจส่งผลตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ มันจะเป็นหายนะหากรัฐบาลชุดใหม่ของไทยกลับคืนสู่นโยบายยาเสพติดที่ล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต่างจาก ซายท์เซฟ ที่ให้ความเห็นว่า การห้ามไม่ได้ผล ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไทยจะไม่เดินตามรอยประเทศสิงคโปร์ ที่ผู้คนถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาลักลอบค้ากัญชา ซึ่งเป็นพืชที่ค่อนข้างปลอดภัยที่ผู้คนทุกวัยและทุกภูมิหลังใช้กันทั่วโลก
เศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลผสม มีแผนจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างไรยังไม่แน่ชัด ในขณะที่พรรคเพื่อไทยของเศรษฐา ให้คำมั่นที่จะยกเลิกกฎหมายปี 2565 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นพันธมิตรกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ในช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้พยายามผลักดันอย่างแข็งขันเพื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรมของกัญชา เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรคภูมิใจไทยคัดค้านการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะพยายามติดตามอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การผลักดันธุรกิจกัญชาให้กลับไปสู่ใต้ดิน ทำให้ตำรวจจับได้ยากขึ้น อาจส่งผลให้มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่มีปัญหากับกฎหมาย รวมทั้งเปลี่ยนการค้าจากธุรกิจที่เสียภาษีอย่างถูกต้องไปสู่แก๊งค้ายาเสพติดที่ก่ออาชญากรรมอย่างท่วมท้นครอบคลุมทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแอมฟาตามีน (ยาบ้า) และยาเสพติดผิดกฎหมายอื่นๆ ในปริมาณมหาศาล โดย ไล กังวลว่า หากมีการนำบทลงโทษทางอาญา เช่น โทษจำคุกกลับมาใช้ใหม่ อาจนำไปสู่การจับกุมและตรวจหาสารเสพติดอย่างเข้มงวด และมีการบันทึกประวัติอาชญากรรมอีกครั้ง รัฐบาลไทยควรรวบรวมและนำเสนอข้อมูลแทน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน
ขอบคุณเรื่องจาก
https://edition.cnn.com/2023/09/29/asia/thailand-cannabis-clampdown-what-next-intl-hnk/index.html