“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 ตอนจับตาเรือดำน้ำคืนชีพ ชี้ช่องเครื่องยนต์จีนสเปกเทพ ไม่ผิด MOU
ยังคงเป็นมหากาพย์ที่ยืดเยื้อต่อไปสำหรับจัดซื้อเรือดำน้ำของไทย ซึ่ง ครม. อนุมัติโครงการในยุคที่ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กุมบังเหียนกองทัพนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และกองทัพเรือจ่ายเงินไปแล้ว
แต่โครงการดังกล่าวกลับสะดุดลงด้วยปัญหาเยอรมันไม่ขายเครื่องยนต์ MTU ให้กับจีน ซึ่งในเงื่อนไขในสัญญาจัดซื้อระบุอย่างชัดเจนว่า
เรือดำน้ำของไทยที่ซื้อจากจีนจะต้องติดตั้งเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน ซึ่งเป็นเครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับชาร์ทแบตเตอรี่อันเป็นพลังงานสำหรับหมุนใบจักรเมื่อเรือดำน้ำแล่นอยู่ใต้ทะเลแทนการใช้เครื่องจักรดีเซลเมื่อแล่นบนผิวน้ำ
หากไม่เป็นไปตามนั้นถือว่า “ผิดสัญญา”
แม้ในวันที่ตรวจเยี่ยมกองทัพเรือเมื่อ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา “บิ๊กทิน” นายสุทิน คลังแสง จะยืนยันหนักแน่นว่า เรือดำน้ำไปต่อไม่ได้ และจะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต โดยกองทัพเรือจะเพิ่มเงินที่เป็นส่วนต่างของราคาเรือดำน้ำกับเรือฟริเกตให้แก่จีน
โดยนายสุทินให้สัมภาษณ์กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญว่า วิธีนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่าย
แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน รัฐมนตรีสุทินกลับมีท่าทีอ่อนลงในแนวทางแก้ปัญหาด้วยการขอเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนล่าสุดว่า
“โครงการเรือดำน้ำออกได้ทุกหน้า เยอรมันอาจจะเปลี่ยนใจขายเครื่องยนต์ให้จีนก็ได้ จีนอาจจะเห็นชอบแนวทางเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตก็ได้ หรือเดินหน้าต่อโดยใช้เครื่องยนต์จีนก็ได้”
หากถอดรหัสจากถ้อยคำที่กล่าวมาข้างต้น อาจแปลความได้ว่านี่คือ “การถอย” อย่างมีเชิงของรัฐมนตรีสุทินหลังจากที่ “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. นำข้อสรุปจากฝ่ายกฎหมายของกองทัพเรือเข้าชี้แจงกับรัฐมนตรีสุทินอีกครั้งในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือเปิดเผยว่า การเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตโดยใช้ TOR เดิมที่ลงนามกันไว้ไม่สามารถกระทำได้
เพราะทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไทยจะมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ โดยฝ่ายไทยผิดในข้อหาไม่ปฏิบัติตามระเบียบการซื้อจ้าง ฝ่ายจีนผิดในข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของการซื้อขายยุทโธปกรณ์ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม มีผู้ชี้ช่องว่าประเด็นนี้อาจมีทางออก เพราะการซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ไม่ใช่ “สัญญาซื้อขาย”
แต่เป็น “ข้อตกลง” ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน
การยอมรับเรือดำน้ำที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ MTU ของเยอรมันจึงไม่ใช่การ “ผิดสัญญา” ตามระเบียบการซื้อจ้างของกรมบัญชีกลาง แต่เป็นการ “ผิดข้อตกลง” ระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน
เมื่อถึงนาทีนี้ต้องบอกว่า กองทัพเรือสามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้อย่างปลอดภัย เพราะหากจะยกเลิกสัญญาโดยใช้ประเด็นจีนไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำที่มีเครื่องยนต์ MTU 3 เครื่องจากเยอรมัน
ผู้ที่จะยกเลิกสัญญาคือ ครม. ไม่ใช่กองทัพเรือ เพราะผู้ที่อนุมัติสัญญาตั้งแต่แรกคือ ครม. ในยุคที่บิ๊กป้อมเป็นรัฐมนตรีกลาโหม
ที่สำคัญก็คือ กองทัพเรือได้พยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาแล้วด้วยการให้คำยืนยันทางเทคนิคว่า
เครื่องยนต์ของจีนเทียบเท่าเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมันมีคุณสมบัติเหมือนกันสามารถยอมรับได้ หลังจากที่กองทัพเรือส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามดูการผลิตและทดสอบเครื่องยนต์รุ่นนี้ในทุกมิติโดยใช้เวลานานถึง 6 เดือน
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ข้อเท็จจริงในเรื่องเครื่องยนต์จีนเทียบเท่า MTU เยอรมันรุ่นนี้ ไม่ใช่เครื่องแรกในโลกที่จะติดตั้งให้เรือดำน้ำไทย
เพราะเรือดำน้ำปากีสถาน 3 ลำ ได้ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นนี้เรียบร้อยแล้วลำละ 3 เครื่อง และเรือดำน้ำอีก 5 ลำที่ปากีสถานจะซื้อเพิ่มเติม รวมเป็น 8 ลำ ก็จะติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นนี้เช่นกัน โดยปากีสถานขอให้จีนส่งช่างเทคนิคไปสร้างเรือดำน้ำลำที่ 5 ถึงลำที่ 8 ในปากีสถาน เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพเรือปากีสถาน
ดังนั้นหากมีการติดตั้งเครื่องยนต์จีนเทียบเท่าเครื่องยนต์ MTU ให้กับเรือดำน้ำไทย มันจึงไม่ใช่เป็นการติดตั้งครั้งแรกของโลกแต่อย่างใด
และกองทัพเรือไทยก็จะไม่ใช่ “หนูลองยา” ตามที่ถูกตั้งข้อสังเกต เพราะผู้ที่จะ “ทดลองยา” ให้ไทยเห็นก็คือปากีสถาน เพราะจีนจะต้องผลิตเครื่องยนต์รุ่นนี้สำหรับเรือดำน้ำถึง 24 เครื่องให้กับเรือดำน้ำของปากีสถานทั้ง 8 ลำ
และที่สำคัญที่สุดก็คือ จีนมีการใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้กับเรือผิวน้ำของจีนมาแล้วหลายลำ ก่อนจะนำมาวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในเรือดำน้ำ ซึ่งผลการวิจัยและพัฒนาหรือที่เรียกว่า R and D ก็ได้รับการรับรองจากกระทรวงกลาโหมของจีนแล้ว
นี่จึงเป็นเหตุผลที่กองทัพเรือยืนยันว่าสามารถยอมรับเครื่องยนต์รุ่นนี้ได้ หากรัฐบาล “ไฟเขียว” ให้เดินหน้าต่อโครงการอันเป็นมหากาพย์ของกองทัพเรือ
ในวันนี้การเปลี่ยนแปลงสัญญาจากเรือดำน้ำให้เป็นเรือฟริเกตตามที่บิ๊กทินออกมากล่าวอย่างหนักแน่นในตอนแรกจึงแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด จนดูเหมือนว่าบิ๊กทินอาจต้องเลี้ยวกลับไปประคองโครงการเรือดำน้ำไว้ก่อนจนกว่าจะมีการนำเรื่องเข้า ครม. เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ
ส่วนเรื่องเรือฟริเกตซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหามาทดแทนเรือสุโขทัยก็แยกไปดำเนินการต่างหาก ซึ่งหากจีนมีความสนใจก็ต้องเข้ามาแข่งขันตามกติกาที่มีการเปิดกว้างให้กับทุกชาติซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า กองทัพเรือได้จัดทำ SR หรือความต้องการเบื้องต้นของคุณสมบัติเรือฟริเกตลำใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
หากได้รับความเห็นชอบจากกลาโหมและรัฐบาลเมื่อใด โครงการนี้ก็พร้อมจะเดินหน้าเต็มตัวในทันที
หากเป็นไปตามนั้น ก็เท่ากับว่า กองทัพเรือ “เข้าวิน” แบบเต็ม ๆ คือได้ทั้งเรือดำน้ำและเรือฟริเกต อยู่ที่ว่าลำไหนจะแจ้งเกิดก่อนเท่านั้นเอง
——————————–
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1